Sample Batic T-Shirt

Pearl Inlay - งานช่างมุก

เขียนโดย charunee วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553


Mother-of-Pearl Inlay

Mother-of-pearl is used to adorn various objects. The items that were splendidly decorated by the Thai mother-of-pearl inlay process are called “Khr-uang Muk” by the Thais. Thais process requires plenty of time, artistic talent and skilled craftsmanship, therefore mother-of-pearl inlaid objects are recognized as highly-valued items. They are also the pride of many owners.
          The seashell popularly used in the mother-of-pearl work is called “Muk Fai”, flame snail, which is luminous. Apart from seashells, other major materials used in this painstaking process include black lacquer, Samuk, the ashes of burnt deer’s horns and fired clay powder.
         To begin the mother-of-pearl inlay process, the outer surface of each
seashell is removed and polished by a hand file. The white inner shell is washed and cut into pieces. The pieces are honed with a file until smooth. They are washed and ready to be painted. The design, if simple, is traced directly onto the shell surface. For more complex ones, tracing paper with the pattern drawn on it is glued to the shell. The mother-of-pearl inlay work can be created on wooden, metal or fired clay surfaces. If the design is sketched directly onto the shell, the pieces are pasted in their proper places on the tracing paper, which is then pressed, paper, which is then pressed, paper side up, on the sticky, newly lacquered surface of the item being decorated. After the paper has been moistened and peeled off, the surface is rubbed with a hard stone to restore its shine and defective patches repaired with more lacquer. The final stage involves the polishing of the mother-of-pearl surface. Several coatings with lacquer will make it even more glossy.
         Among the superb examples of mother-of-pearl work are the decorations of temple doors and windows, exquisitely detailed boxes, bookcases, screen, royal beds, alm bowls, scabbards and coffins.
________________________________________

AOT. Chang Sip Mu . Bangkok : Amarin Printing & Publishing ,1997.



งานช่างมุก Mother-of-Pearl Inlay



สถาบันศิลปกร กรมศิลปากร

ส่วนช่างสิบหมู่

งานช่างมุก เป็นงานประณีตศิลป์ชั้นเยี่ยมแขนงหนึ่งที่มีปรากฏการสร้างสรรค์งานแขนงนี้เพียงไม่กี่ประเทศในโลก ที่มีชื่อเสียงมากก็เป็นประเทศแถบเอเชียได้แก่ประเทศจีน , เวียดนาม , ญี่ปุ่น และไทย ซึ่งมีวิธีการสร้างงานที่แตกต่างกันบ้างในขั้นตอนขบวนการผลิตของแต่ละประเทศและไม่สามารถทราบได้ว่าประเทศใดเป็นต้นแบบการสร้างงานแขนงนี้เป็นครั้งแรกของโลก สำหรับประวัติความเป็นมาของงานช่างมุกในประเทศไทยมีเช่นไรต้องศึกษาจากชิ้นผลงานที่เก่าแก่ที่สุดได้แก่บานประตูประดับมุกสมัยอยุธยาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาสมัยของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ การสร้างสรรค์งานประเภทนี้มักนิยมสร้างเพื่อสนองต่อสถาบันพระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์เพราะถือว่าเป็นงานปราณีตศิลป์อันล้ำค่าต้องใช้งบประมาณสูงและฝีมือช่างชั้นยอด ตัวอย่างชิ้นผลงานเช่น บานประตูและบานหน้าต่างประดับมุกของพระอุโบสถ,วิหาร,ปราสาท,พระราชวังเป็นต้น อีกทั้งเครื่องใช้ของพระภิกษุสงฆ์,องค์พระมหากษัตริย์และขุนนางเชื้อพระวงศ์ผู้สูงศักดิ์ ตัวอย่างชิ้นผลงานเช่น พาน,ตะลุ่ม,พานแว่นฟ้า,หีบ,กล่องและตู้พระธรรมเป็นต้น

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานช่างมุกไทย

- เปลือกหอย จะต้องเป็นเปลือกหอยชนิดที่มีไฟคือมีการสะท้อนแสงออกเป็นสีรุ้งแวววาว เช่น หอยอูด(หอยมุกไฟ) , หอยนมสาว , หอยเป๋าฮื้อและหอยมุกจานเป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นหอยได้จากทะเล และมีหอยน้ำจืดบางชนิดเท่านั้นที่สามารถนำมาใช้งานได้ได้แก่หอยกาบ

- ยางรัก และ สมุก(ถ่านจากกะลามะพร้าวบดละเอียด) ผสมกันเรียกรักสมุกใช้ทำพื้น,ประดับลายและถมพื้น

- หุ่น คือชิ้นงานที่จะประดับมุก โดยมากสร้างขึ้นจากไม้หรือหวายโดยการสานขึ้นหุ่นหรือขึ้นรูปด้วยขบวนการช่างไม้ – โครงเลื่อยฉลุของช่างทอง,ใบเลื่อยฉลุไม้,ตะไบ,คีมปากจิ้งจก,ปากคีบ.กระดาษทรายและกาว

- มอเตอร์หินเจียร,เครื่องขัดไฟฟ้า

ขั้นตอนการปฏิบัติงานช่างมุก

1. ขั้นเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่

การเตรียมเปลือกหอย

• การเตรียมเปลือกหอยคือการนำเปลือกหอยมาขัดเจียรเพื่อไล่หินปูนที่เกาะผิวนอกออกให้หมดให้ถึงชั้นที่ใช้งาน

• แล้วทำการตัดแบ่งชิ้นมุกให้มีขนาดเหมาะสมแก่การใช้งาน

• สุดท้ายขัดแต่งชิ้นมุกให้มีความหนาบางสม่ำเสมอกันเหมาะแก่การนำไปใช้งาน การเตรียมพื้นหุ่น

• การขัดแต่งผิวให้ได้ระนาบ

• รองพื้นด้วยรักสมุกให้เรียบพอเหมาะสะดวกแก่การประดับลาย ข้อสำคัญถ้าหุ่นเป็นประเภทมีเหลี่ยมมุมมากๆเช่นตะลุ่มหรือเตียบจะต้องขัดแต่งให้เหลี่ยมมุมที่จะประดับลายเหมือนๆกันให้มีขนาดใกล้เคียงกันเพื่อสะดวกในการประดับลาย

2. ออกแบบลาย ควรออกแบบลายให้เหมาะสมแก่ชิ้นงานแต่ละชนิดและจะต้องเข้าใจลักษณะของลายประดับมุกคือตัวลายมุกจะต้องถูกแบ่งออกจากกันเป็นตัวๆ เนื่องจากเปลือกหอยมุกส่วนใหญ่มีความโค้งไม่สามารถนำลายชิ้นมุกที่โค้งมาวางประดับบนพื้นงานที่เป็นระนาบเรียบๆได้จำต้องแบ่งตัวลายออกเป็นชิ้นเล็กๆ สั้นๆจึงจะสามารถประดับลายได้สะดวก เมื่อได้ลวดลายที่ต้องการแล้วนำมาคัดลอกหรือถ่ายเอกสารไว้ประมาณ 3 – 4 แบบสำหรับใช้งานดังนี้

• แบบที่หนึ่งเป็นแบบใช้ตรวจทานความเรียบร้อยในการประดับลายมุก

• แผ่นที่สองเป็นแบบสำหรับผนึกลงบนผิวชิ้นมุกเพื่อโกรกฉลุลาย

• แผ่นที่สาม สำหรับนำชิ้นลายมุกที่ฉลุและขัดแต่งขอบลายแล้วมาผนึกลงบนแบบด้วยกาวน้ำเพื่อรอการประดับบนพื้นงานจริง,ป้องกันการสับสนหลงลายและสูญหายเนื่องจากมีจำนวนชิ้นลายมากและขนาดเล็ก เมื่อเตรียมลายเรียบร้อยแล้วทำการผนึกลงบนผิวชิ้นมุกเพื่อโกรกฉลุลายต่อไป

3. โกรกฉลุลาย โดยใช้โครงเลื่อยฉลุเลื่อยลายออกเป็นตัวๆ นำชิ้นลายแต่ละตัวมาขัดแต่งขอบลายเพื่อลบคลองเลื่อยและทำให้ลายสวยงามตามที่ออกแบบไว้ด้วยตะไบขนาดต่างๆและกระดาษทราย นำลายที่ขัดแต่งขอบไปผนึกบนแบบลายที่เตรียมไว้เพื่อรอการประดับจริงบนชิ้นงาน

4. ประดับลาย คัดลอกลายลงบนชิ้นงานโดยวิธีลูบฝุ่นโรยลายแบบช่างลายรดน้ำ ถอดลายมุกจากแผ่นแบบทีละตัวนำมาผนึกลงบนชิ้นงานในตำแหน่งที่ถูกต้องของตัวลายโดยใช้ยางรักและรักสมุกเป็นตัวประสาน ทำการประดับลายจนครบทิ้งให้ยางรักแห้งสนิททายางรักเคลือบทับหน้าอีกชั้นเพื่อประสานลายมุกให้ติดสนิทกับพื้นชิ้นงานยิ่งขึ้นก่อนถมลาย

5. ถมลายด้วยรักสมุก หลังจากยางรักแห้งสนิทนำยางรักมาผสมกับสมุกให้เหนียวพอดีนำรักสมุกมาถมลงร่องระหว่างตัวลายมุกให้มีปริมาณครึ่งหนึ่งของร่องลายให้ทั่วทั้งชิ้นงานทิ้งให้แห้งสนิทดำเนินการถมรักสมุกรอบต่อไปอีกสองถึงสามชั้นตามกรรมวิธีเดิมจนเต็มร่องลายทิ้งให้แห้งสนิททุกครั้งก่อนถมชั้นต่อไป (ยางรักจะแห้งสนิทใช้เวลา 5 ถึง7วันต่อครั้ง)

6. ขัดแต่งผิวหน้าชิ้นงาน เมื่อยางรักแห้งสนิททำการขัดแต่งผิวหน้าชิ้นงานด้วยหินกากเพชรและกระดาษทรายขนาดความหยาบต่างๆกัน ขัดจนปรากฏลายมุกใช้กระดาษทรายละเอียดขัดแต่งให้เรียบและปรากฏลายมุกอย่างครบสมบูรณ์ทั่วทั้งชิ้นงาน

7. ขัดมัน โดยใช้ใบตองแห้งฉีกเป็นฝอยชุบน้ำมันมะพร้าวเล็กน้อยขัดถูผิวชิ้นงานพร้อมโรยผงสมุกชนิดละเอียด ขัดให้เกิดความร้อนนานๆด้วยมือผิวชิ้นงานจะค่อยๆเป็นมันขึ้นตามธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้น้ำมันเคลือบเงา

งานช่างมุกเป็นงานที่มีขั้นตอนและขบวนการผลิตที่ละเอียดอ่อนและประณีตบรรจงมาก เป็นงานศิลปกรรมที่ทรงคุณค่าคู่แผ่นดินไทยมานานแสนนาน ดังนั้นเราจึงควรสืบทอดและอนุรักษ์งานช่างแขนงนี้ไว้ให้อยู่คู่ความเป็นไทยตลอดไป

Posted in CHANG SIP MU
Tagged CHANG SIP MU, งานช่างมุก, ช่างสิบหมู่

2 responses to “งานช่างมุก”

งานช่างมุก

อำพล สัมมาวุฒิ

(นักวิชาการช่างศิลป์ ๘ว.)



งานประดับมุก เป็นงานช่างอีกแขนงหนึ่งที่อาศัย ฝีมือและความละเอียดอ่อน โดยการนำเอาเปลือกหอยบางชนิด ที่มีคุณลักษณะพิเศษ คือมีความแวววาว สามารถสะท้อนแสง แล้วเกิดเป็นสีเหลือบเรืองรองต่างๆ คล้ายสีรุ้ง คุณลักษณะของ เปลือกหอยเช่นนี้ ภาษาช่างเรียกว่า “มีไฟดี” และที่งานประดับมุก สามารถใช้ประดับตกแต่งพื้นผิวของชิ้นงานได้หลายลักษณะ เช่น ประตู หน้าต่างของพระอุโบสถ วิหาร และพระที่นั่งในพระบรม มหาราชวัง หรือประดับตกแต่งภาชนะใช้สอย เช่น พาน ตะลุ่ม เตียบ โต๊ะ ตู้ เตียง เป็นต้น

แต่เดิมการประดับมุก มักใช้กับงานที่เกี่ยวเนื่องกับ สถาบันพระมหากษัตริย์ และศาสนาเป็นส่วนใหญ่ จากหลักฐาน ทางโบราณคดี สันนิษฐานว่า งานประดับมุกที่เก่าแก่ที่สุดคงเกิด ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลักฐานเก่าแก่ที่สุดคือ ตู้พระไตรปิฎก ประดับมุก ปัจจุบันเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ บานประตู มุกสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (สมเด็จพระบรมราชาธิ ราชที่ ๓) ได้แก่ บานประตูพระวิหารวัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัด พิษณุโลก และบานประตูพระวิหารวัดบรมพุทธาราม จังหวัด พระนครศรีอยุธยา

      สมัยรัตนโกสินทร์ มีการสร้างงานประดับมุก ตั้งแต่ตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา โลกมหาราช และมีการสร้างผลงานประดับมุกสืบเนื่องต่อมา ดังมีผลงานประดับมุกของช่างตกทอดมาทุกวันนี้ ได้แก่ บานประตูพระอุโบสถและบานประตูพระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บานประตูพระมณฑป พระพุทธบาทสระบุรี สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ บานประต ูพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในการปฎิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในรัชกาลที่ ๓ บานประตู พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สร้างในรัชกาลที่ ๕ เป็นต้น

ผลงานประดับมุก ของครูช่างโบราณยังมีอีกมากมาย ตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นผลงานชิ้นสำคัญบางส่วน ซึ่งทรงคุณค่ายิ่งควรแก่การอนุรักษ์ไว้ให้แก่ชนรุ่นหลังได้ศึกษา และเพื่อความภูมิใจในศิลปกรรมของชาติแขนงนี้ ต่อไป

วัสดุอุปกรณ์ในงานช่างมุก

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการงานช่างประดับมุก ประกอบด้วย

หุ่น หุ่นที่ใช้ในการประดับมุกมักทำด้วย ไม้, หวาย และอาจใช้โลหะเป็นบางกรณี ตัวอย่างหุ่น ได้แก่ บานประตู บานหน้าต่าง พาน ตะลุ่ม พานแว่นฟ้า หีบ กล่อง ตู้พระธรรม หีบพระธรรม ใบประกับคัมภีร์ เป็นต้น

เปลือกหอย ที่นิยมนำมาใช้ประดับลายมุก คือ เปลือกหอยอูด เป็นหอยทะเลชนิดหนึ่งชาวบ้านเรียก หอยโข่งมุก แต่ช่างมุกมักเรียกว่า มุกไฟ เนื่องจากให้สีแสงสะท้อนเป็นสีรุ้งดี กว่าหอยชนิดอื่น หอยชนิดนี้มีลักษณะคล้ายหอยโข่งน้ำจืด แต่มี ขนาดใหญ่กว่ามาก และมีเปลือกหนา มีหินปูนเกาะผิวนอกอยู่ทั่วไป มีราคาสูงกว่าหอยชนิดอื่น นอกจากนี้ยังใช้ หอยนมสาว หอยจาน หอยเป่าฮื้อ หรือหอยร้อยรู หอยกาบน้ำจืด และหอยแมงพู่ขนาด ใหญ่

รูปภาพด้านบน : ลายประดับมุก ส่วนหนึ่งของบานตู้พระไตรปิฎก ซึ่งดัดแปลงมาจากบานประตูประดับมุกพระวิหาร วัดบรมพุทธาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ยางรัก ใช้ในการทำพื้นในการงานช่างมุก

สมุก ใช้ในการถมพื้นลายมุก

หินขัดเปลือกหอย คือ หินที่ใช้ในการขัดเอาหินปูน ที่เกาะอยู่บริเวณเปลือกนอกออก และขัดแต่งชั้น มุกให้ความหนาบางพอเหมาะแก่การใช้งาน สมัยโบราณใช้แรงคนช่วยหมุนแผ่นหินขัดในการการขัดเจียนแต่งผิว เปลือกหอย แต่ในปัจจุบันใช้มอเตอร์หินเจียนแทน

เครื่องเลื่อยตัดแบ่งชิ้นมุก เพื่อสะดวกในการนำชิ้นมุก ไปขัดแต่งให้ได้ขนาดตามที่ต้องการในสมัย โบราณไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใช้เครื่องมือใดในการตัดแบ่ง เพียงแต่สันนิษฐานว่าใช้ใบเลื่อยในการเลื่อยติดชิ้นมุก ด้วยมือ แต่ในปัจจุบันช่างมุก ใช้ใบตัดเป็นแผ่นทองแดงติดเข้ากับแกนมอเตอร์สามารถตัดแบ่งชิ้นมุกได้สะดวก แต่ ค่อนข้างอันรายในการใช้งาน

กระดาษลอกลาย และชุดเครื่องมือช่างเขียน สำหรับเขียนแบบ ทั้งการออกแบบหุ่น และลายที่ใช้ ประดับมุก

มีดหรือกรรไกรพร้อมกาวน้ำ สำหรับตัดแบ่งตัวลายแม่แบบบนกระดาษ ไปผนึกลงบนผิวเปลือก หอยมุกที่ขัดแต่งแล้ว เตรียมโกรกฉลุลาย

คีมปากจิ้งจกใหญ่และเล็ก สำหรับการใส่ใบเลื่อยเข้าโครงเลื่อย และการจับตัวชิ้นมุกในการฉลุลาย ขัดแต่งขอบลาย ฯลฯ

โครงเลื่อยฉลุ เป็นโครงเลื่อยแบบช่างทำทองรูปพรรณใช้กัน เป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งของช่างมุก ซึ่งไม่สามารถสืบหาได้ว่าโบราณใช้เครื่องมือใดในการโกรกฉลุลาย แต่คาดว่าคงมีเครื่องมือลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ใช้มาแต่สมัยอยุธยาแล้ว เนื่องจากยุคนั้นมีการติดต่อกับต่างประเทศทั้งจีนและยุโรปแล้ว อาจได้รับเทคโนโลยีการ ใช้เครื่องมือ จากต่างประเทศเข้ามาเผยแพร่บ้าง

ใบเลื่อย มักใช้ใบเลื่อยฉลุไม้แบบมาตรฐานพิเศษ (ตราใบโพธิ์) บางครั้งอาจใช้ใบเลื่อยฉลุโลหะเพื่อ การเลื่อยเก็บงานในจุดพิเศษที่ไม่สามารถขัดแต่งได้สะดวก

ตะไบ ชนิดและขนาดต่างๆ สำหรับขัดแต่งขอบลายเพื่อลบรอยคลองเลื่อยและแต่งตัวลาย ให้สวยงาม ตามแบบ

กระดาษทรายทั้งหยาบและละเอียด ใช้ขัดแต่งลายมุกและชิ้นงาน

ปากคีบขนาดเล็ก ใช้หยิบชิ้นลายในการประดับลาย

อุปกรณ์ทำพื้นด้วยรักสมุก ได้แก่เกรียงโป๊วสีขนาดต่างๆ

หินขัดหรือหินกากเพชรสำหรับขัดพื้นให้เรียบ ปัจจุบันใช้มอเตอร์ขัดเจียนแบบมือถือ (ภาษาช่าง เรียกลูกหมู) ช่วยขัดได้สะดวกขึ้น แต่ต้องระวังความร้อนที่เกิดจากการขัด อาจทำให้เนื้อรักสมุกร้อนจนละลายได้

เหล็กจาน สำหรับแกะจานผิวมุกให้เป็นลวดลาย

ใบตองแห้ง ใช้ในการขัดมันผิว

งานช่างประดับมุกปัจจุบันมีวิธีการ ๒ แบบ คือ แบบถมลาย และแบบฝังลาย

ขั้นตอนการประดับมุกแบบถมลาย

การเตรียมวัสดุ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ดังนี้

๑. เตรียมหุ่น ที่จำนำมาประดับมุก เช่น พาน ตะลุ่ม หีบพระธรรม ฯลฯ ผ่านการขัดผิวให้เรียบร้อยพอประมาณด้วย กระดาษทราย และตะไบขัดแต่งมุมแบ่งส่วนพื้นที่ผิวที่จะประดับ ลายให้เรียบร้อย

๒. เตรียมเปลือกหอย โดยการตัด และขัดแต่งให้ได้ ขนาดความหนาที่พอเหมาะก่อนจะนำไปใช้งาน โดยมีขั้นตอนดัง นี้ ขัดหินปูนนอกออก ตัดแบ่งชิ้นมุก จะได้ชิ้นมุกที่ใช้งานได้สาม ส่วน ส่วนที่เหลือเป็นขื่อมุก (คือไส้กลางของเปลือกหอยมุก) ที่ ไม่สามารถนำมาใช้ประดับลายได้ แต่ขื่อมุก ก็ใช้ประโยชน์ในการ ทำเขี้ยวยักษ์หรือเขี้ยวลิงของหัวโขนได้ ขัดแต่งชิ้นมุกเพื่อใช้ งาน โดยให้หินเจียนขัดเอาเปลือกด้านในที่มีความแข็งมากที่สุด ออก (เรียกว่าน้ำลายมุก) แล้วขัดแต่งความหนาให้พอดีกับการใช้ งาน

การออกแบบ

การออกแบบลวดลายมุกให้สวยงาม และเหมาะสมกับภาชนะที่จะประดับแต่ละชิ้น ควรจะต้องศึกษา ลวดลายต่างๆ ให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และสามารถนำลวดลายที่เหมาะสมมาใช้งานได้อย่างถูกต้อง ทั้งรูปแบบ และตำแหน่งโดยเฉพาะจะต้องมีความเข้าใจการออกแบบลายมุกซึ่งมีความแตกต่างจากลายประเภทอื่น คือ ตัวลายจะขาดออกจากกันเป็นตัวๆ เพื่อความสะดวกในการสร้างงาน เนื่องจากเปลือกหอยมีความโค้ง ไม่สามารถวางลายลงบนพื้นเรียบได้ยาวนัก จึงต้องตัดตอนเป็นช่วงสั้น เพื่อให้ลายต่อเนื่องกันได้

เมื่อออกแบบเรียบร้อยแล้ว ให้ลอกลายด้วยกระดาษเก็บไว้ใช้งาน ๓ – ๔ ชุด ชุดแรกเป็นแบบใช้ตรวจ ทานความเรียบร้อยในการประดับลาย ชุดที่สอง ใช้ตัดลายผนึกลงบนผิวชิ้นมุก ด้วยกาวน้ำ เพื่อทำการโกรกฉลุลาย ต่อไป ชุดที่สาม ใช้ประกอบการประดับลาย โดยเมื่อฉลุและขัดแต่งลายเรียบร้อยแล้ว ให้นำลายแต่ละชิ้นผนึก ลงบนแบบชุดนี้เพื่อป้องกันตัวลายสูญหาย และสะดวกในการประดับลายลงบนชิ้นงาน

โกรกฉลุลายมุก โดยใช้เครื่องเลื่อยฉลุ ขัดแต่งตัวลายที่ฉลุ แล้วด้วยตะไบขนาดเล็กและกระดาษ ทรายเพื่อให้ขอบลายเรียบหมดคลองเลื่อย และได้รูร่างที่สวยงามตามแบบ ผนึกลายที่ขัดแต่งแล้วลงในแบบที่สาม ด้วยกาวน้ำ

ประดับลาย

ทารักน้ำลงบนผิวภาชนะที่จะประดับลายมุก เพื่อรอง พื้น และเป็นตัวประสานให้ลายมุกติดสนิทกับผิวภาชนะยิ่งขึ้น ทิ้ง ไว้ให้แห้งสนิท และทาซ้ำอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าผิวภาชนะนั้นมีร่อง หรือรอยแตกจะต้องผสมรักสมุกอุดยาร่องดังกล่าว ให้เสมอผิว ก่อนจะประดับลาย ปรุลายลงบนกระดาษตามแบบที่ได้ออกไว้แล้ว ทำการตบฝุ่นโรยลาย ลงมือประดับลายมุก ตามแบบโรยฝุ่นที่ ปรากฏบนผิวภาชนะ โดยถอนลายจากแบบชุดที่สาม ออกมา ประดับทีละตัว ครั้งนี้ใช้ยางรักเป็นตัวเชื่อมแทนกาวน้ำ เมื่อประดับ เสร็จควรทิ้งไว้ให้รักแห้งสนิท ก่อนดำเนินการขั้นตอนต่อไป

ถมรักสมุก

ก่อนทำการถมรักสมุก จะต้องทายางรักเคลือบลงบนตัวลาย และผิวภาชนะนั้นให้ทั่วโดยเฉพาะร่อง ระหว่างตัวลาย เมื่อเคลือบทั่วแล้ว เช็ดแปรงที่ใช้ทารักให้หมาดๆ ทำการลูบแปรงซ้ำลงไป เพื่อซับเอายางรัก ที่มีปริมาณมากเกินออก มิฉะนั้นรักที่ตกค้างนี้จะก่อให้เกิดปัญหาภายหลังหลังจากแห้งสนิทแล้ว ทาซ้ำอีกสองถึง สามครั้ง ผสมยางรักกับสมุกถมลงในร่องลายให้เต็ม และถมทับลายให้ทั่วภาชนะทิ้งไว้ให้แห้งสนิท

ขัดแต่งผิว
ทำการขัดแต่งด้วยหินกากเพชร หรือกระดาษทรายอย่างหยาบ โดยขัดกับน้ำให้พอเห็นลายมุกขึ้นมา บางส่วน ถ้ายังมีร่องหลุมให้ผสมรักสมุกถมกลบในเฉพาะส่วนนั้นๆ ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทจึงทำการขัดต่อไป จนถึงลาย เส้นมุกพอดี การขัดต่อจากนี้ให้ใช้กระดาษทรายละเอียดแทนจนผิวเรียบเสมอกันดี ทิ้งไว้ให้แห้ง ขั้นสุดท้ายทำ การขัดมัน โดยใช้ใบตองแห้งฉีกฝอยขัดถูพอร้อนผิวก็จะขึ้นมัน

0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ตัวอย่างสินค้าผ้าบาติก

ตัวอย่างสินค้าผ้าบาติก
ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตตามความต้องการของลูกค้า ราคาเสื้อเริ่มต้น 350-บาท(ไม่รวมค่าส่ง)

product-amazon

ตัวอย่างตุ๊กตาชาววัง

ตัวอย่างตุ๊กตาชาววัง
ตุ๊กตามีหลายชุดอาทิ ชุดมวยไทย ชุดเณรน้อย ชุดดนตรีไทยเป็นต้น ราคาเริ่มต้นที่ 120.- บาท,

youtube

object width="325" height="444">

Followers

Made to order

Made to order
แนะนำสินค้า ผ้าบาติก ติดต่อ 081-9152376 จารุณี

สินค้า handmade เป็นสินค้าที่กลุ่มแม่บ้านจากชุมชุนต่างๆของไทย ที่ได้ัจัดทำขึ้นจากความชำนาญ ที่ถูกถ่่ายทอด กันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่าเป็นการนำเอาวัสดุในธรรมชาติมาผลิต และนำมาพัฒนา ดัดแปลงให้เข้ากับสภาพความเป็นอยู่พร้อมทั้งนำเอาเทคนิคใหม่มาพัฒนาให้เป็นสินค้า handmade ของแต่ละชุมชนโดยในการพัฒนานี้บ้างก็ได้รับความสนับสนุนจากภาครัฐบาล โดยได้จัดให้มีการอบรมนำเอาความรู้ใหม่มาพัฒนาจนเป็นสินค้าที่นิยมและเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน จนบางครั้งใช้คำเรียกว่่าสินค้าเหล่านั้นว่า OTOP สินค้าเหล่านี้มีทั้งที่เป็นของประเทืองผิวพรรณ เป็นของใช้ในครัวเรือนบ้าง เป็นของตกแต่งบ้านซึ่งมีทั้งที่ทำจากไม้ จากใบลาน ที่รวมเรียกว่าเครื่องจักสาน รวมทั้งสินค้าพวกแฟชั่นสำหรับวัยรุ่น หากท่านที่สนใจในผลิตภัณฑ์ ของชุมชนต่างสามารถสอบถามและติดต่อเสอบถามราคาหรือจะเป็นตัวแทนจำหน่ายได้ที่ 081-9152376 หรือที่ email: charuneec@hotmail.com